หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โครงร่างงานวิจัย 1.ชื่อเรื่อง (The Title)

          http://blog.eduzones.com/jipatar/85921 กล่าวว่า  ชื่อเรื่องควรมีความหมายสั้น กะทัดรัดและชัดเจน เพื่อระบุถึงเรื่องที่จะทำการศึกษาวิจัย ว่าทำอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด หรือต้องการผลอะไร ยกตัวอย่างเช่น “ประสิทธิผลของการใช้วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันกับทหารในศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ 2547” ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ชื่อที่ยาวมากๆ อาจแบ่งชื่อเรื่องออกเป็น 2 ตอน โดยให้ชื่อในตอนแรกมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่า และตอนที่สองเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนขยาย เช่น “โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคของนักเรียนชาย : การเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนอาชีวศึกษากับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในกรุงเทพมหานคร 2547”
          นอกจากนี้ ควรคำนึงด้วยว่าชื่อเรื่องกับเนื้อหาของเรื่องที่ต้องการศึกษาควรมีความสอดคล้องกันการเลือกเรื่องในการทำวิจัยเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่ต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ หลายประเด็น โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้รับจากผลของการวิจัย ในการเลือกหัวเรื่องของการวิจัย มีข้อควรพิจารณา 4 หัวข้อ คือ
          1    ความสนใจของผู้วิจัย  ควรเลือกเรื่องที่ตนเองสนใจมากที่สุด และควรเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป
          2    ความสำคัญของเรื่องที่จะทำวิจัย  ควรเลือกเรื่องที่มีความสำคัญ และนำไปใช้ปฏิบัติหรือสร้างแนวความคิดใหม่ๆได้  โดยเฉพาะเกี่ยวกับงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัวหรือเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพ
          3    เป็นเรื่องที่สามารถทำวิจัยได้  เรื่องที่เลือกต้องอยู่ในวิสัยที่จะทำวิจัยได้ โดยไม่มีผลกระทบอันเนื่องจากปัญหาต่างๆ  เช่น  ด้านจริยธรรม ด้านงบประมาณ ด้านตัวแปรและการเก็บข้อมูล ด้านระยะเวลาและการบริหาร ด้านการเมือง หรือเกินความสามารถของผู้วิจัย
          4    ไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยที่ทำมาแล้ว  ซึ่งอาจมีความซ้ำซ้อนในประเด็นต่างๆ ที่ต้องพิจารณาเพื่อหลีกเลี่ยง ได้แก่  ชื่อเรื่องและปัญหาของการวิจัย (พบมากที่สุด) สถานที่ที่ทำการวิจัย ระยะเวลาที่ทำการวิจัย วิธีการ หรือระเบียบวิธีของการวิจัย

          ภิรมย์ กมลรัตนกุล (http://cai.md.chula.ac.th/lesson/research/re12.htm#06-1)  กล่าวว่า  ชื่อเรื่อง มักเป็นส่วนดึงดูดความสนใจจุดแรกของโครงร่างการวิจัยทั้งโครงการ จึงควรตั้งชื่อเรื่องให้น่าสนใจ ทันต่อเหตุการณ์ พิจารณาแล้ว เป็นเรื่องที่วิจัยได้ (researchable topic) และควรแก่การแสวงหาคำตอบ  โดยทั่วไปหลักในการตั้งชื่อเรื่องทำได้โดยหยิบยกเอาคำสำคัญ (key words) ของเรื่องที่จะทำวิจัยออกมาประกอบกันเป็นชื่อเรื่อง จะทำให้ชื่อนั้นสั้น กระทัดรัด ชัดเจน และสื่อความหมาย ครอบคลุมความสำคัญของเรื่องที่จะศึกษาทั้งหมด  คำสำคัญ (key words) ควรเป็นคำที่ใช้กันทั่ว ๆ ไป (technical term) ในสาขาวิชาที่จะศึกษา จะช่วยให้บรรลุหลักการ ดังกล่าวข้างต้น ได้ดียิ่งขึ้น เช่น คำว่าประสิทธิผล (effectiveness), ปัจจัยเสี่ยง (risk factor), ความไว (sensitivity), ความถูกต้อง (accuracy) เป็นต้น ถ้าต้องมีทั้ง ชื่อเรื่องภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ควรจะสอดคล้องไปด้วยกัน ในเชิงความหมาย

          ไพทูรย์  เวทการ (2540) กล่าวว่า               
   1) ชื่อเรื่องมีความชัดเจน รัดกุม และสื่อความหมายได้ครอบคลุมเนื้อหาที่จะวิจัยหรือไม่
   2) ชื่อเรื่องได้มีการระบุปัญหาเป็นการเฉพาะหรือชี้ชัดประเด็นที่จะศึกษาได้เพียงใด
   3) ชื่อเรื่องกว้างหรือแคบเกินไปหรือไม่
   4) การใช้คำขึ้นต้นมีลักษณะเป็นคำนามที่สื่อความหมายได้เพียงใด
   5) การตั้งชื่อจูงใจและดึงดูดความสนใจของผู้อ่านเพียงใด

          สรุป  
    ชื่อเรื่อง (The Title)  ควรมีความหมายสั้น กะทัดรัดและชัดเจน เพื่อระบุถึงเรื่องที่จะทำการศึกษาวิจัยว่าทำอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด หรือต้องการผลอะไร  ครอบคลุมเนื้อหาที่จะวิจัย  และความเป็นชื่อที่น่าสนใจ  ดึงดูดใจผู้อ่าน  ทันต่อเหตุการณ์  

          อ้างอิง
   http://blog.eduzones.com/jipatar/85921.  เข้าถึงเมื่อ 13  พฤศจิกายน 2555.
   ภิรมย์ กมลรัตนกุล. [ออนไลน์].  http://cai.md.chula.ac.th/lesson/research/re12.htm#06-1.  เข้าถึงเมื่อ 13  พฤศจิกายน  2555.
   ไพทูรย์  เวทการ.  (2540).  ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัย.  ลำปาง : โรงพิมพ์ช่างแดง.